ประวัติโรงเรียน

ประวัติโรงเรียนสบปราบพิทยาคม

อำเภอสบปราบจังหวัดลำปาง

โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น สายสามัญศึกษานี้ เป็นความประสงค์ของผู้ปกครองนักเรียนในอำเภอสบปราบต้องการให้จะตั้งขึ้น โดยความร่วมมือของนายเสรี วงศ์เรืองศรี อดีตครูใหญ่โรงเรียนบ้านสบปราบ (วันครู 2502) เป็นสื่อกลางติดต่อกับผู้ปกครองนักเรียนและขอเชิญนายจรูญ เอี่ยมรอด ศึกษาธิการอำเภอสบปราบ ไปร่วมปรึกษาหารือและประชุมเกี่ยวกับระเบียบการก่อตั้ง ณ โรงเรียนบ้านสบปราบ (วันครู 2502) วันเสาร์ที่  21  ธันวาคม  2511  ผู้ปกครองเข้าร่วมประชุม 90 คน พี่ประชุมได้ตกลงแต่งตั้งกรรมการฝ่ายการเงินจะหาทุนซื้อที่ดินเพื่อการก่อสร้างโรงเรียนนี้รวม 6 คนคือ

1.นายพนัส เครือนวล กำนันตำบลสบปราบ เป็นประธานกรรมการ

2.นายวิมุกข์ สันต์ศิริ เป็นกรรมการ

3.นายสิงห์คำ ชัยน่าน เป็นกรรมการ

4.นายอ้าย ชุ่มธิ เป็นกรรมการ

5.นายหมื่น คำฟู เป็นกรรมการ

6.นายเสรี วงศ์เรืองศรี ครูใหญ่โรงเรียนบ้านสบปราบ (วันครู 2502) เป็นกรรมการและเหรัญญิก

ในวันที่ 21 ธันวาคม 2511 มีผู้ปกครองนักเรียนที่เข้าร่วมประชุมได้ร่วมใจกันแสดงความจำนงบริจาคทรัพย์สมทบทุนซื้อที่ดินก่อสร้างโรงเรียนนี้ รวมเป็นเงิน 13,150.00  บาท แล้วมีมติให้ติดต่อเจ้าของที่ดินสันนาคัน ติดต่อกับห้วยฮ่องปุ๊ และถนนพหลโยธิน   โดยนายชวน โชคสกุล เจ้าของที่ดินยินยอมยกที่ดิน 5 ไร่เศษให้เป็นสมบัติของโรงเรียนและเจ้าของที่ดินรายอื่นอีก 4 ราย ยินยอมขายที่ดินให้แก่โรงเรียน รวมเนื้อที่ประมาณ 11 ไร่เศษ นายเสรี วงศ์เรืองศรี จึงได้เสนอเรื่องราวและแจ้งมติที่ประชุมให้อำเภอทราบเรื่องขอความร่วมมือในการก่อสร้างโรงเรียนต่อไป และอำเภอได้รับเป็นโครงการระดับอำเภอ โดยให้เจ้าหน้าที่ดำเนินงานคือ นายฉนวน ชาญวิทย์การ นายอำเภอสบปราบเป็นผู้รับผิดชอบ

นายจรูญ เอี่ยมรอด ศึกษาธิการอำเภอสบปราบเป็นผู้ดำเนินการ และไห้ใช้โครงการนี้  ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2511 เป็นต้นมาพร้อมทั้งเสนอโครงการนี้ไปยังจังหวัดในวันที่ 25 ธันวาคม 2511 จังหวัดเห็นชอบตามโครงการที่เสนอไป และส่งเรื่องราวไปยังกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อขอรับอนุมัติจัดตั้งโรงเรียน เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2512 แต่กระทรวงศึกษาธิการยังไม่มีงบประมาณดำเนินการให้ เพราะทางอำเภอส่งเรื่องราวไปช้า ไม่ทันปีงบประมาณ พร้อมทั้งกรมวิสามัญศึกษาขอให้ทางอำเภอจัดหาที่ดินสำหรับเตรียมปลูกสร้างโรงเรียนเพิ่มเติมให้ได้เนื้อที่  35 ไร่ อำเภอจึงนัดประชุมผู้ปกครองนักเรียนในวันที่ 28 กันยายน 2512 เพื่อวางโครงการจัดหาเงินสมทบทุนจัดหาที่ดินโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นของอำเภอสบปราบ ที่ประชุมมีมติให้ปรึกษาหารือ เพื่อซื้อที่ดินติดต่อกับโรงเรียนสบปราบ (ช้อย เชื้อสิงห์อนุกูล)ให้ได้เนื้อที่ 25 ไร่ และขอโอนที่ดินโรงเรียนสบปราบ (ช้อย เชื้อสิงห์อนุกูล) มาเป็นของโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นด้วย และได้ขอร้องให้ นายจรูญ เอี่ยมรอด ศึกษาธิการอำเภอสบปราบ จัดงานกฐินสามัคคีอำเภอสบปราบเพื่อหาเงินสมทบทุนซื้อที่ดิน การจัดงานกฐินครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากคณะครูอำเภอสบปราบ ช่วยหาเงินจากการจัดงานกฐินเป็นเงิน 4,883.00 บาท และได้จากการจัดงานดนตรี 780.00 บาท รวมเป็นเงิน 5,663.00 บาท

เมื่อการจัดงานกฐินสามัคคีเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้มีการประชุมผู้ปกครองนักเรียนอีกครั้งหนึ่ง พร้อมทั้งวางโครงการเก็บเงิน ที่มีผู้แสดงความจำนงบริจาคไว้ โดยให้นายจรูญ เอี่ยมรอด ศึกษาธิการอำเภอสบปราบ และนายเสรี วงศ์เรืองศรี เป็นผู้ดำเนินการออกประชุม และเก็บเงินตามหมู่บ้านต่าง ๆ รวม 9 แห่ง แต่ยังรวบรวมได้ไม่ครบตามจำนวนที่มีคผู้แสดงความจำนงบริจาคไว้อำเภอจึงได้ให้ นายคำมา แก้วปัน ผู้ช่วยศึกษาธิการอำเภอสบปราบ ออกไปติดต่อขอรับเงินอีกครั้งในเดือนเมษายน  2513

ในขณะเดียวกันนั้น ผู้ปกครองนักเรียนได้มอบหมายให้ นายวิมุกข์ สันต์ศิริ กรรมการ ติดต่อกับ นายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ นายเสริม จีนาสวัสดิ์ นายบุญเรือง ชุ่มอินทร์จักร ผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง ดำเนินเรื่องราว ขอจัดตั้งโรงเรียนต่อ ฯพณฯ นายสุกิจ นิมมานเหมินทร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการอีกขั้นหนึ่ง และ ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้มาแวะตรวจเยี่ยมสถานที่จัดตั้งโรงเรียนในวันที่  16 เมษายน 2513  พร้อมทั้งให้คำรับรองการจัดตั้งโรงเรียนโดยจะให้เจ้าหน้าที่หมอตรวจดูอีกครั้งหนึ่ง

ในการตรวจสถานที่ก่อตั้งโรงเรียนมัธยมนี้ได้มีอาจารย์ ประจวบ คำบุญรัตน์ ผู้อำนวยการกองโรงเรียนรัฐบาลได้มาตรวจเยี่ยมพร้อมด้วยนายทรงชัย เจตะบุตร ศึกษาธิการจังหวัดลำปาง และคณะผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง  3 คน คือ นายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ นายเสริม จีนาสวัสดิ์ และนายบุญเรือง ชุ่มอินทร์จักร เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2513  ได้ตกลงให้เปิดโรงเรียนในวันที่ 22 มิถุนายน 2513  โดยให้เปิดเป็นสาขาของโรงเรียนเถินวิทยา ให้ใช้ชื่อว่า โรงเรียนเถินวิทยา(สาขาสบปราบ) ไปพลางก่อน แล้วในปีการศึกษา 2514  จึงขออนุญาตเปิดเป็นอิสระเอกเทศต่อไป

โรงเรียนนี้อยู่ในความควบคุมดูแลของอำเภอสบปราบในด้านการปกครอง ด้านธุรการและด้านการเงิน  ด้านวิชาการ ให้อยู่ในความดูแลของ นายณรงค์ บุญมัติ ครูใหญ่โรงเรียนเถินวิทยาร่วมกับนายจรูญ เอี่ยมรอด ศึกษาธิการอำเภอสบปราบ นายณรงค์ บุญมัติ ไม่สามารถควบคุมดูแลเป็นประจำได้จึงมอบหมายให้นายวิวัฒน์ วัฒนบุตร ครูใหญ่โรงเรียนบ้านสบปราบ (วันครู 2502) เป็นผู้รักษาการแทนครูใหญ่โรงเรียนเถินวิทยา (สาขาสบปราบ ) อีกตำแหน่งหนึ่ง ด้วย นอกจากนี้อำเภอยังได้จัดให้  นางอัมพร สุริยะมณี  ผู้ช่วยครูใหญ่โรงเรียนบ้านทุ่ง เป็นครูช่วยสอน ประจำชั้น ม.ศ.1 พร้อมด้วยขอร้องให้นางสาวประภา ทับทิมดี วุฒิ ป.กศ.สูง ,นางสาวพูลศรี ถาวรกิจ วุฒิป.กศ.,นางกิ่งกาญจน์ ศิริพงษาโรจน์ พ.ม.,นางสาวเฉลิมศรี ยอดยา ป.กศ.,นางสาวพัทยา วิมาระศักดิ์ ป.กศ., นางอุไร ชมภู ป.กศ.,นายประดิษฐ์ สิทธิวงศ์ ป.กศ.,และนายสุวรรณ วัฒนานันท์ ป.กศ. คณะครูโรงเรียนบ้านสบปราบ ฯ ระดับประถมศึกษาตอนปลายช่วยประจำสอนเป็นบางวิชาที่ตนถนัด ตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการด้วย

ในวันเปิดเรียน มีนักเรียนมาสมัครเข้าเรียน ชาย 10 คน  หญิง 12 คน รวม 22 คน

อุปกรณ์การเรียนการสอนของโรงเรียนไม่มี จึงจำเป็นต้องอาศัยสถานที่ อาคารเรียน ของโรงเรียนบ้านสบปราบ(วันครู 2502) ตลอดจนอุปกรณ์ต่างๆใช้ไปพลางก่อน

คณะกรรมการเห็นควรจะได้มีการทำบุญตักบาตรเพื่อเป็นสิริมงคลแก่โรงเรียนจึงได้ตกลงให้มีการทำบุญตักบาตรและมีพระธรรมเทศนา 1 กัณฑ์ ในวันพฤหัสบดีที่ 9 กรกฎาคม 2513  ในวันนี้ ศึกษาธิการอำเภอได้ชี้แจงให้ผู้ปกครองนักเรียนและแขกที่มาร่วมงานได้ทราบกิจกรรมของโรงเรียน กับได้ขอร้องให้ช่วยทำโต๊ะ ม้านั่งนักเรียนชนิดนั่งเดี่ยว ให้พอจำนวนนักเรียนปรากฏว่ามีผู้บริจาคให้  30 ชุด กระดานดำชนิดติดฝาผนัง 1 ชุด โต๊ะครู 1 ชุด

นักเรียนประจำวันนี้ ชาย 17 คน หญิง 19 คน รวม 36 คน

ปีการศึกษา 2514  กรมวิสามัญศึกษาโดยมีคำสั่งบรรจุแต่งตั้งครู 2 อัตรา คือ นายอนุศักดิ์ อินทะวงศ์ และนายไพฑูรย์ พานธงรักษ์ และได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารเรียนแบบ 216  จำนวน 1 หลัง จำนวน 4 ห้องเรียน และมีการต่อเติม 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อปี 2514  จำนวน 8 ห้อง ครั้งที่สอง  เมื่อปี 2522 จำนวน 4 ห้อง รวม 16 ห้อง ปี 2515  ได้ย้ายสถานที่โรงเรียนจากโรงเรียนบ้านสบปราบ (วันครู 2502) มาเรียนที่ตั้งปัจจุบัน เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2515 ซึ่งตั้งอยู่ที่หลักกิโลเมตรที่ 552-553 เลขที่ 271 ถนนพหลโยธินบ้านหล่ายฮ่องปุ๊ หมู่ที่ 8 ตำบลสบปราบ อำเภอสบปราบ จังหวัดลำปาง  มีเนื้อที่ 36 ไร่ 2 งาน 36 ตารางวา โดยมีนายสุพัฒน์ นิรมิตรเจียรพันธุ์ ดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่โรงเรียนสบปราบวิทยา คนแรก

พ. ศ. 2524 ได้รับงบประมาณสำหรับสร้างโรงฝึกงานจำนวน 1 หลัง เป็นเงิน  620,000 บาท วันที่ 10 สิงหาคม 2525  การไฟฟ้าได้จ่ายกระแสไฟฟ้าใช้ภายในโรงเรียน สิ้นงบประมาณจำนวน 197,000 บาท ทั้งนี้ไม่รวมค่าธรรมเนียม ค่าตรวจสอบและอุปกรณ์ภายในซึ่งจ่ายจากเงินบำรุงการศึกษาของโรงเรียน ปี 2527  โรงเรียนได้เข้าโครงการโรงเรียนมัธยมพัฒนาชนบท (มพช.2 รุ่นที่ 2) ได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารเรียนวิทยาศาสตร์ CS213B  1 หลัง โรงฝึกงาน 1 หลังบ้านพักครูแบบแฝด 1 หลัง หอถังประปา 1 หลัง และปรับปรุงบริเวณโรงเรียนเป็นเงินทั้งสิ้น 4,798,500.00 บาท

ปี 2531 โรงเรียนเข้าโครงการ โรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา (ค.อมต.สศ.) กรมสามัญศึกษากระทรวงศึกษาธิการ ปี 2534 ได้รับคำสั่งจากกรมสามัญศึกษาให้เปิดสอนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และได้รับงบประมาณก่อสร้างบ้านพักนักเรียน 2 หลัง บ้านพักผู้บริหาร 1 หลังเป็นเงิน 980,000.00 บาท  ปี 2535 โรงเรียนได้เปิดสอนกิจกรรมนักศึกษาวิชาทหาร ปี 2536  ได้รับงบประมาณก่อสร้างหอประชุมแบบ 100/27 จำนวน 1 หลัง เป็นเงิน 3,997,000.00 บาท

ปี 2537  กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ โดยนายสัมพันธ์ ทองสมัคร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศเปลี่ยนชื่อโรงเรียนจากโรงเรียนสบปราบวิทยา เป็น โรงเรียนสบปราบพิทยาคม ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2537 เป็นต้นไป

ปี 2540 ได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารเรียนแบบ 424ล.(พิเศษ)  4 ชั้น 24 ห้องเรียน 1 หลังเป็นเงิน 15,000,000.00 บาท

ปี 2550-2551 ได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารเรียนแบบ 216ล 3 ชั้น เป็นเงิน 14,773,000 บาท

ปี 2563-2564 ได้รับจัดสรรบ้านพักครูแบบ 8 ครอบครัว จำนวน 1 หลัง เป็นเงิน 3,978,000

ปัจจุบันมีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษารวมทั้งสิ้น 49 คน นักเรียน 815 คน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *